วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เริ่มต้นอย่างไรกับไทรอัล...

....การรวบรวมข้อมูลอันน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่สนใจกีฬาไทรอัล มาไว้ในที่นี้ หวังไว้ว่าจะเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษาหาข้อมูลกับเพื่อนๆ ที่กำลังฝึกหัดหรือผู้สนใจทั่วไป โดยเนื้อหาผมได้บอกเล่าจากประสบการณ์จริง เป็นการบอกเล่าถึงเทคนิคง่ายๆ ขั้นพื้นฐานของไทรอัล เป็นการบอกเล่าด้วยเจตนาเผยแพร่...มิได้แสดงตนเป็นผู้เชี่ยวชาญอันใด หากข้อมูลใดผิดพลาด ขออภัยไว้ ณ.ที่นี้ด้วยครับ...




>>>>>>>> เริ่มต้นอย่างไรกับไทรอัล ...เริ่มจากมีความอยากจะฝึกขี่ไทรอัล และมีความตั้งใจ...จากนั้นหาอุปกรณ์ คือรถมอเตอร์ไทรอัล รองเท้าบู๊ช ถุงมือ หมวกกันน็อค   ...มอเตอร์ไซด์ มีหลายราคาครับ ตระกูลHONDA TLM  TLR ...YAMAHA TY ... หรือรถฝรั่งเสื้อลม พวกนี้ระบายความร้อนด้วยอากาศ ไม่ยุ่งยากในการดูแลรักษาครับ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์ 2จังหวะ  จะมีก็แต่ TLR ที่เป็น 4 จังหวะ  ราคาก็ว่ากันตามสภาพครับ เก่าญี่ปุ่น ใหม่ไทย จะสภาพดีหน่อย หากเก่าทั้งนอก เก่าทั้งใน ก็ซ่อมกันมากหน่อย หรืออาจถึงขั้นกู่ไม่กลับกันเลยทีเดียวครับ  แต่ราคาอาจสูงต่ำไม่เท่ากันครับ  อีกประเภทก็พวกหม้อน้ำ ตัวแข่งแรงๆ ก็มีทั้งญี่ปุ่น  และฝรั่ง ประเภทหลังนี้ยิ่งต้องดูกันละเอียด เพราะราคาอะไหล่ไม่ธรรมดาครับ หากโดนยำมาแล้ว...เหนื่อยหน่อยครับ ส่วนใหญ่อะไหล่ต้องสั่ง แต่หากได้รถดี ประวัติไม่ด่างพร้อย ก็โชคดีไป แต่หากโดนมาล่ะก็ไม่ได้ฝึกขี่กันดีหละ  แต่จะมันส์กะการซ่อม และหาอะไหล่.....แต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างกันในการออกแบบ สรีระท่ายืน น้ำหนัก กำลังรถ..แต่โดยสรุป...เราต้องมีรถหนึ่งคัน ที่พร้อมใช้งานครับ


....อุปกรณ์เซฟตี้....มีความจำเป็นมากๆครับ เสื้อยีดแขนยาว เพื่อกันแดดลม และกันศอกได้นิดหน่อยเผื่อเวลาล้มเบาๆ ...กางเกงขายาวผ้ายืดเข้ารูป หรือกางเกงวอร์ม เพื่อใส่สบายคล่องตัวในจังหวะเคลื่อนไหว หรือใครจะใส่กางเกงยีนส์ก็ยังไหว ส่วยใครสะดวกจัดหาชุดเสื้อ+กางเกง สำหรับขี่โดยเฉพาะก็ยิ่งดีครับแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละท่าน .... ถุงมือไทรอัล จะมีความบางเป็นพิเศษหน้ามือเป็นหนังบาง ไม่ลื่น หลังมือเป็นผ้าใยสังเคราะห์ ไม่นิยมมีการ์ดหนา ใส่แล้วรู้สึกสบาย+กระชับไม่ลื่น หากหาวื้อไม่ได้ก็เอาถุงมือโมโตฯทั่วไปเอามาโมฯให้บางลงก็พอไหวครับ...เอา ไว้เซฟมือเวลาฝึกซ้อมนานๆ เพราะเราจะออกแรงกำมือ+บิดซ้าย+ขวา แทบจะตลอดเวลาเชียวครับ  และยังเซฟตี้เวลาล้มได้อีกด้วยครับ... รองเท้าบุ๊ช พื้นล่างเรียบ ข้อเท้าอ่อน เคลื่อนไหวได้คล่องตัว โดยปกติของไทรอัลจะมีกิ๊บล็อคแค่ 3 ตัว ใส่สบายเท้ากว่า บุ๊ชโมโตครอสที่แข็งกว่า.... ส่วนการ์ดอื่นๆเช่น การ์ดศอก.. การ์ดเข่า ใครกลัวเจ็บก็ใส่ไว้ในช่วงฝึกใหม่ๆ ก็ไม่ว่ากันครับ สำหรับผมไม่เคยใส่การ์ดพวกนี้ เพราะอึดอัดเคลื่อนไหวไม่คล่องตัวเลย .... หมวกกันน็อค จำเป็นไม่แพ้อุปกรณ์อื่นใดครับ เป็นหมวกแบบเปิดหน้า แก็ปหมวกแบบสั้น มีสายรัดคางแน่นหนา น้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดี ส่วนใครจะเล่นของใน...ของนอกก็ไม่ว่ากัน หรืออาจหยิบหมวกครึ่งใบ ของแม่บ้านสำหรับไปจ่ายตลาดก่อนก็ไม่ว่ากันครับ บางท่านอาจเอาของจ้กรยานมาใช้ก่อนก็พอไหว...แต่...ผิดประเภทครับ ความเซฟตี้ต่างกันนะครับ แบบว่าฝึกซ้อมหลังบ้านก็พออนุโลม



..... จ๊อกกี้ กับ ม้าแข่ง...สำคัญเท่าๆกันครับ วันนี้ขอกล่าวถึง...ไทรอัลไบท์ มอเตอร์ไซด์ของเรา หากว่ามีความสมบูรณ์ดีแล้ว ก็ดูแลรักษาให้ดีครับ ผมขอพูดถึง การวอร์มรถก่อนการใช้งาน เพื่อลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ครับ ตรวจดูน้ำในหม้อน้ำ..ลมยางหน้าจะแข็งกว่ายางหลัง1-2 ปอนด์เช่นหน้า6 หลัง5 ปอนด์หรือ หน้า6หลัง4ปอนด์ โดยรวมแล้วลมยางจะใช้แรงดันประมาณนี้ครับ...หล่อลื่นจุดหมุน และ โซ่ สเตอร์ด้วยน้ำมันหล่อลื่น ... การผสมน้ำมัน2-T ที่แน่นอนสำหรับเครื่อง2จังหวะ... ส่วนประเภท4จังหวะไม่ต้องผสม2-T ครับสตาร์ทอุ่นเครื่องก่อนสักครู่ครับ อาจจะวอร์มอัพคน ไปในเวลาเดียวกันเลย ใช้เวลาแค่3-5นาทีเอง แต่มีผลมากมายครับเซฟตี้ตัวเรา และถนอมรถของเรา การเร่งเครื่องอย่างรวดเร็ว ในขณะเครื่องเย็นทำให้เกิดการสึกหรออย่างรวดเร็ว ระบบหล่อลื่นยังทำงานไม่สมบูรณ์ครับ  ...การแต่งกายด้วยอุปกรณ์เซฟตี้ดังที่กล่าวมาแล้ว จะช่วยได้ในการล้มเล็กๆน้อยๆครับ...การเริ่มต้นขี่เล่น ด้วยความเร็วต่ำๆ วนไปวนมาซักครู่ จะสร้างความคุ้นเคยระหว่างคน กับรถครับ ขึ้น ลงต่ำๆ... ยกล้อสั้นๆ และเพิ่มระยะมากขึ้น  แต่ทุกประการที่กล่าวมาแล้ว อย่าให้เกินความสามารถในการควบคุมของเรานะครับ เล่นเท่าที่เราทำได้ พอเกิดความชำนาญ แล้วค่อยเพิ่มความยากขึ้นตามลำดับจะดีกว่า หากเกิดอุบัตฺเหตุเจ็บขึ้นมาแล้ว เสียเวลา เสียงาน เสียเงินรักษาตัว แย่ครับ...


.... วันนี้ขอคุยเรื่อง ครัทช์...มีไว้บีบๆๆๆๆ แต่ในสไตด์ของไทรอัล มีรายละเอียดในการบีบครัทช์ ค่อนข้างมาก มี 3 สเตปหยาบๆ(คือไม่ละเอียด)  เริ่มต้นปรับหาตำแหน่งการทำงานของครัทช์ให้เจอ แล้วปรับมันมาอยู่ในตำแหน่งที่เราถนัดมือก่อนครับ...พอเริ่มบีบก็คือตำแหน่ง แตะ (ไม่ฟรี) บีบอีกนิดหน่อยคือตำแหน่ง เลีย (ครัทช์ทำงานไม่เต็ม100%  จะทำงานกี่% ก็อยู่ที่แรงบีบที่นิ้วมือเราครับ) ...ออกแรงบีบเข้าไปอีกก็เป็นตำแหน่ง ฟรี...(ตัดกำลังระหว่างเครื่องยนต์กับ ล้อหลังครับ)  หากค่อยๆปล่อยเบาๆ ก็จะกลับไปสู่การทำงานเหมือนเดิม ....เทคนิคการใช้ครัทช์อีกอย่าง ให้ใช้ 1หรือ 2 นิ้วบีบ อย่าใช้ 4นิ้วบีบ เราจะเสียการคอนโทรลแฮนด์ หากใช้2นิ้วบีบ เรายังมี นิ้ว ก้อยกับนิ้วนางใว้คอนโทรลแฮนด์ เพื่อจะดึงหรือโยกรถเราได้ครับ...กำแฮนด์ให้แน่นๆและออกแรงเกร็งไว้เล็กน้อย ที่แขนทั้ง2ข้าง ....หัวไหล่...ฟรีได้เป็นอิสระ เหมือนสะโพกและเอวฟรี โยกได้เป็นอิสระเหมือนกันครับ ใช้โยกเพื่อถ่ายเทน้ำหนัก ซ้าย ขวา ในการบาลานซ์ ....เหมือนที่เราหัดขี่จักรยานตอนเด็กๆ ....เริ่มจะสนุกแล้วนะครับ..



.... การควบคุมเครื่องยนต์...หากเรามีเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์แล้ว ก็ต้องมีการควบคุมกำลังแรงม้าที่มีอยู่ให้ พอดีกับการใช้งานครับ ...ท่านต้องใช้เวลาสร้างความคุ้นเคยกับรถของท่าน ดั่งที่เพื่อนๆหลายคนกล่าวว่า หากเปลี่ยนรถก็เหมือนหัดขี่ใหม่...มีส่วนครับ ใช้หูฟังเสียงรอบเครื่องครับ มองดูอุปสรรค์หรือเส้นทางข้างหน้าแล้วควบคุมหรือเร่งเครื่อง ควบคุมครัทช์ ให้พอดี กะบความยากง่าย ของอุปสรรค์นั้นๆ ...(ตอนนี้มีการถ่ายเทน้ำหนักมาเกี่ยวข้องแล้วครับ ในหัวข้อต่อไป)...หากมากเกินไปก็อาจหงาย หรือพุ่งเร็วเกินการควบคุม หากน้อยเกินไปก็อาจไม่ผ่านสิ่งกีดขวางนั้นๆ หรือขึ้นไม่พ้น ฉะนั้นท่านทดลองฝึกกับอุปสรรค์ต่ำๆก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มความสูง ความยากขึ้นทีละน้อยนะครับ...เพื่อความปลอดภัย ความชำนาญต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน ....การเปิดคันเร่ง ให้เปิดเร่งก่อนปล่อยครัทช์ในกรณี พื้นที่จำกัด หรือต้องยกล้อหน้าเข้าหาสิ่งกีดขวาง... หรือต้องการกำลังเครื่องยนต์อย่างรุนแรง แต่ที่กล่าวมาแล้ว ต้องอยู่ในความสามารถในการควบคุมนะครับ...ฝึกอย่างนี่จะเกิดความมั่นใจ เพราะว่าท่านจะค่อยๆพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง และจะดีไม่น้อยหากมีผู้ชำนาญคอยดูแล เค้าจะดูและแก้ไขข้อบกพร่องไห้ท่านครับ ...หากรวบรวมได้หลายๆท่าน ผมยินดีเปิดสอนทักษะให้ฟรีครับ...



.... โช๊คอัพ...หน้า-หลัง การปรับโช๊คอัพรถไทรอัล จะแตกต่างจากรถประเภทอื่น เหมือนลมยางหละครับ คือเน้น..นุ่มเป็นหลัก ตอนหัดขี่ใหม่ๆ  ผมเคยคิดว่ามันนุ่มเกินไป เวลาโดดแล้วมันจะยุบแบบสุดๆ ..คงต้องปรับสปริงให้มันแข็งเพื่อเวลา จั๊ม..จะได้ลอยสวยๆ และไม่ยุบมากเกินไป ทั้งโช้คหน้าและหลัง....ผิดถนัดครับ ปรากฎว่าคุมรถไม่ได้มันแข็ง ตอนขี่ไปชนหินหรือรากไม้ เราจะคุมรถได้ยาก แรงสะเทือนจะขึ้นมาที่แฮนด์-แขน-ไหล่ เสียการทรงตัวครับ(ในโช๊คหน้า) ... ส่วนโช๊คหลังหากแข็งเกินไป ตอนฮอปหรือจั๊ม..จะทำได้ดี แต่ขี่ฝึกทักษะไม่เหมาะครับ ท้ายไวเกินไป เราจะจับจังหวะและควบคุมรถไม่ทัน...โดยรวมแล้วโช๊คอัพจะต้องยืดและยุบได้สุด ในสภาวะการใช้งานปกติ  เน้นที่นุ่มเอาไว้ก่อน จะดีกว่าเพราะจะควบคุมได้ง่าย แม้กระทั่งรถแข่ง..ของผมและเพื่อนๆในกลุ่ม    ...ส่วนการปรับค่าความหนืดของโช๊คก็มีผลต่อความรู้สึกว่า รถเบา-หนัก รถคันเดียวกัน ปรับความหนืดน้อยๆความคล่องตัวจะมีมากกว่าการปรับความหนืดมากๆ  และรู้สึกเหมือนจะเบากว่าครับ...ทั้งที่เป็นรถคันเดียวกัน และจะมีผลกับการขับขี่ที่แตกต่างกันด้วยนะครับ ทดลองปรับไว้ที่กลางๆก่อน จะเพิ่มหรือลดค่าความหนืดก็ปรับแต่งเอาตามชอบ ส่วนจะปรับแต่งให้พิเศษขึ้นไปอีกก็ต้อง Modify กันหละครับ คงพอจะเข้าใจกับการปรับตั้งโช๊คแล้ว ส่วนโช๊คอัพที่เสียก็คงต้องซ่อมแซม หรือเปลื่ยนใหม่ ครับ



....มีนักแข่งญี่ปุ่นท่านนึง แนะนำว่า การตั้งแฮนด์เกินแนวแกนโช๊คไปข้างหน้าจะทำให้ หน้าไว ควบคุมยาก รถจะไปซ้าย ไปขวาตลอด ในขณะที่เราโหนรถ หรือจังหวะที่รถดึงเราไปในข้างหน้า...ส่วนการตั้งแฮนด์กลับมาด้านหลังมากเกินไป ก็จะติดตัวเราในเวลาเทคตัวขณะขึ้นหน้าตัด หรือจังหวะที่โน้มตัวไปข้างหน้าตอนขึ้นที่สูงครับ ตำแหน่งที่ดีที่สุดคือ ตรงกับแนวแกนโช๊ค หรือหลังแนวแกนโช๊คเล็กน้อย ซึ่งตรงกับจุดหมุนพอดีครับ(แกนแผงคอคือจุดหมุน) ลองปรับตั้งแล้วขี่ทดสอบดู หากรู้สึกว่าหน้าไวเกินไป ก็ขยับกลับหลังนิดหน่อย แล้วลองขี่ดูนานๆทุกสถาณะการณ์เลยนะครับ การปรับตั้งเพียงเล็กน้อยก็เห็นผลนะครับ ...หากได้ที่ดีแล้วก็ล๊อคน็อตให้แน่นก็เป็นอันจบ...



....เริ่มสตาร์ทเลยครับ...อุ่นเครื่องซัก 2-3 นาทีก็ขึ้นขี่เลยครับ...ระวัง เข้าเกียร์แล้วโดด(ครัทช์ไม่จาก) มึปัญหาบ่อยๆกับรถฝรั่ง โดยเฉพาะตะกูล BETA แต่มั่นใจได้ว่าแผ่นครัทช์ท่านยังมีคุณภาพดีอยู่ครับ...หันหน้ารถไปทางที่ปลอดภัยดีกว่า ปลอดภัยไว้ก่อน... ผมบอกหลายๆคนที่มาฝึกด้วยว่า ขี่เกียร์ 1 เป็นวงกลมช้าๆบีบ-เล่น ครัทช์ตลอดเวลาด้วยนิ้วเดียวหรือ2นิ้ว เพื่อจะได้คุ้นเคยกับการใช้ครัทช์และรู้จังหวะครัทช์ เร่งเเครื่องนิดหน่อย แล้วปล่อยเดินเบา เร่งให้เพียงพอกับการใช้งาน เบิ่ลเป็นจังหวะ ...และใช้เบรคหน้า หลังดึงรถไว้ให้ช้าเป็นจังหวะ เลียครัทช์บ้าง ปล่อยครัทช์บ้าง บีบครัทช์ให้รถหยุดบ้าง... แต่ต้องพยายามวนรถไว้เป็นวงกลม โดยพยายามย่อเข่าหนีบรถ การจัดท่าทางการขับขี่ให้ถูกต้องเป็นการเริ่มต้นที่ดีครับ...การเลี้ยวเป็นวงกลมในกีฬาไทรอัลนั้น พยายบามให้ช่วงไหล่ และช่วงตัวขนานกับแฮนด์รถ ...ใช้การย่อบิดเข่าด้านใน กับใช้การบิดเอวช่วยในการเลี้ยว โดยเอียงรถเข้าด้านในวงกลม...ค่อยๆนึกภาพตามนะครับ...ใจเย็นๆเพื่อจัดท่าทางให้ถูกต้อง สงสัยพรุ่งนี้ต้องถ่ายรูปประกอบซะแล้วครับ วนรถเป็นวงกลมซ้าย พอคล่องดีก็เปลี่ยนเป็นวนขวา ช้าๆนะครับ ใช้เวลาหน่อยท่านจะถึงจุดที่พอจะหยุดรถได้ เป็นระยะเวลาสั้นๆ ในรัศมีวงกลม ก็หมายถึงว่าท่านเริ่มจะทรงตัวได้แล้วครับ...ค่อยๆฝึกไปในลักษณะนี้หละ อาจใช้เวลาช่วงเย็นๆหลังเลิกงาน เป็นการออกกำลังกายไปในตัว...สิ่งที่ตามมาท่านจะปวดเมื่อยนิดหน่อย ไม่เป็นไร อย่าท้อครับ ทำต่อไป กล้ามเนื้อท่านจะแข็งแรง ได้เหงื่อ ทานข้าวอร่อยครับ แถม...วนซ้าย ขวา และวนเป็นเลข8ก็ได้ครับ ผมเอารูปนี้มาให้ดูเพื่อท่านๆจะได้เห็น การบิดตัวตามแฮนด์ ทำให้ช่วงไหล่ขนานกับแฮนด์ และการบิดเอวและการย่อและบิดเข่า แต่รูปนี้เป็นการยกล้อบิดไปด้านซ้ายครับ ขยันฝึกอีกหน่อยท่านๆก็ทำแบบนี้ได้ครับ.....



....การฝึกยกล้อหน้า...คือการเร่งเครื่องแล้วปล่อยครัทช์อย่างกระทันหัน ทำให้ล้อหน้ายกลอย (ส่วนที่ลอยแล้วจะควบคุมอย่างไรก็ว่ากันอีกที) ...ขณะที่เราทรงตัว-ควบคุมรถ บีบครัทช์ไว้ แล้วให้ย่อเข่ากดน้ำหนักลงด้านหน้า(ให้โช๊คยุบตัว) ...และเร่งเครื่องยนต์พอประมาณ พอจังหวะที่โช๊คหน้าสปริงตัวขึ้นก็ให้ใช้จังหวะนั้น...ปล่อยครัทช์ทันที+ออกเรงยก-ดึงที่แฮนด์เล็กน้อย ล้อหน้าก็จะยกลอยขึ้น ส่วนจะยกลอยสูง-ต่ำ..ยกสั้น-ไกล ก็อยู่ที่เราควบคุมคันเร่งล่ะครับ พอถึงตอนนี้ผมขอให้ท่านผู้ฝึกใหม่ ใช้เทคนิคทุกๆอย่างที่ได้กล่าวนำมาแล้วมาผสมผสาน แล้วปฎิบัติอย่างรวดเร็วในเวลาเดียวกันครับ...ดั่งในรูปประกอบ จากจุดเริ่มต้น..ย่อเข่า..บีบครัทช์..เร่งเครื่อง..ปล่อยครัทช์...ควบคุมล้อหน้าขึ้นไปแตะ-วางบนก้อน หินหรืออาจจะแค่แตะสัมผัสที่ก้อนหิน...โน้มตัวไปด้านหน้าและเดินคันเร่งต่อไป เพื่อรถจะเคลื่อนที่ขึ้นไปบนก้อนหิน...ถึงตอนนี้ให้ท่านผู้ฝึก ออกแรงจั้มตัวเองพารถขึ้นไปบนก้อนหิน..พอขึ้นแล้วให้บีบครัทช์และใช้เบรค -ทรงตัว พร้อมเล่นกับอุปสรรค์ต่อไปครับ....ขอเสริมนิดนึงครับ มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นเคยสอนผมว่าพอเราผ่านอุปสรรค์แล้วให้ใช้ระยะที่สั้นๆในการหยุดรถ-ทรงตัว...อย่าเลยล้ำออกไปไกล เป็นการฝึกหยุดรถในระยะสั้น เพื่อเตรียมพร้อมกับอุปสรรค์ต่อไปครับ...ลองฝึกกันดูครับ หากใครมีปัญหาอะไรก็ถามไถ่กันมาได้ ผมและเพื่อนๆคงหาคำตอบให้ท่านได้ครับ...one/NTC


....เริ่มเข้มข้นขึ้นแล้วครับ... ช่วงนี้ฤดูฝน เราต้องขี่ข้ามร่องน้ำบ่อยๆ วันนี้ผมขอนำเสนอ การขี่ลงน้ำ...ข้ามร่องน้ำ อย่างแรกสำรวจดูก่อนว่าพื้นน้ำเป็นดินโคลน...พื้นทราย..หรือกรวดมีก้อนหิน ครับหากไม่ลึกเกิน50-60 เซนฯก็ไม่น่ามีปัญหา หรือไม่ท่วมเกินเครื่องยนต์เรา และพื้นน้ำแข็งพอที่เราจะเคลื่อนรถไปได้ก็ค่อยๆเดินคันเร่งไปได้ครับ...พยายามใช้เกียร์ต่ำ เช่นเกียร์2-3 แต่ไม่แนะนำใช้เกียร์ 1 นะครับ เพราะมันช้าเกินไป (แต่หากตั้งใจจะฝึกเล่นในพื้นน้ำแข็งๆก็อีกกรณีครับ) ...การยกล้อหน้าลอยข้ามไปในร่องน้ำเล็กๆก็ทำได้ครับ...จะทำให้รถเราไม่เปื้อนมากนัก...ครั้งหนึ่ง ผมเคยลงร่องน้ำที่เคยลงเล่นประจำ หลังจากผ่านฤดูฝนไป...ลงเล่นอีกครั้ง...ทั้งรถทั้งคน จมน้ำเลยครับ...ในลำธารมีน้ำป่าไหลผ่าน ทำให้พื้นน้ำเปลี่ยนไปครับ...สรุปว่าผมประมาทไม่สำรวจร่องน้ำก่อนลง...แหม..ก็ทุกครั้งมันไม่ลึกนี่ครับ


....วันนี้ผมขอนำเสนอการบาล้านซ์ตัวบนทางแคบ...ในรูปเป็นเสาไฟฟ้าวางนอน เริ่มต้นขี่เข้าหาเป็นเส้นตรงย่อเข่า ปล่อยตัวตามสบายไม่ขืนเกร็ง แต่ออกแรงบังคับรถพอประมาณ..พอขึ้นบนอุปกรณ์ให้มองไปด้านหน้า..เทคนิคคือ..ให้มองเลยไปเป็นเส้นตรงเลยอุปกรณ์ไปเลย อย่ามองที่หน้าล้อหรือด้านหน้านิดหน่อยให้มองเลยจุดฟินิชไป เดินคันเร่งรักษารอบเครื่อง โดยใช้เกียร์ต่ำใช้การโยกไหล่ และโยกเอวช่วยในการบาล้านซ์ครับใ..ผมเคยขี่บนแผ่นปูนกั้นแนวถนนกว้าง 3-4 นิ้ว..สูงประมาณ 1 เมตร เป็นระยะทาง 100 เมตร มาแล้วโดยใช้หลักการนี้...หลายท่านอาจทดลองได้ โดยขี่บนเส้นขอบถนนและทรวตัวบนเส้นนั้น สนุกๆแต่ฝึกทรงตัวได้ผลดีครับ..


....การลง...ที่สูงและสูงๆๆๆ...อันดับแรก สำรวจทางลง+ความเป็นไปได้ ให้แน่ใจก่อน..สมาธิต้องดี เบรคดี กำลังแขนดี อย่าลงแบบเสี่ยง คือไม่แน่ใจ เห็นเพื่อนลงก็อยากลงบ้าง ควรมีผู้ชำนาญคอยดูแลนะครับ...ก่อนลงควรมีสมาธิและการทรงตัวที่ดี เคลื่อนรถเข้าหาทางลงแบบช้าๆ สายตามองเส้นทางลงและเหลี่ยมหิน..อุปสรรค์ในการลงต่างๆ ใช้เบรคหน้า และหลังตามสมควรแก่สถานะการณ์ ...ขณะลงเกร็งลำแขน ข้อมือ ไหล่..ย่อเข่า มากน้อยแล้วแต่ความชันของมุมลง ขณะลงใช้การบีบครัทช์ให้รถไหลไปแล้วเลี้ยงเบรคนะครับ หรือบางสถานะการณ์อาจใช้การลากเกียร์ลง ก็จะได้ผลที่ต่างกัน...ทดลองลงจากมุมตำๆก่อนนะครับ แล้วค่อยๆเพิ่มมุมชัน และความสูง แต่อย่าลืมเรื่องความปลอดภัย อย่าฝึกคนเดียว หากผิดพลาดจะได้มีคนช่วยแก้ไขครับ...


.............เพิ่มทักษะขึ้นอีกขั้นนะครับ...พอเราทรงตัวบนรถได้แล้วเวลาขี่ก็พยายามอยู่กับรถให้เหนียวแน่น ให้เหมือนรถเป็น อวัยวะ ของท่านหรือท่านกับรถเป็นหนึ่งเดียวกัน เชื่อมต่อความสัมพันธ์เรากับรถด้วย..การควบคุมให้เป็นธรรมชาติ เหมือนขับด้วยความรู้สึกครับ...ผมพยายามใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าใจง่ายๆนะครับ บางคำอาจแปลกๆ คงไม่ว่ากัน ก็พยายามสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายๆน่ะครับ...เร็วๆนี้จะมีศิษย์ใหม่ 2 คน มาฝึกขี่ไทรอัลกับผมอีกครับ เค้าฝึกขี่ในสไตล์ ทักษะ+เซฟตี้ หากเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน มันคือการขับขี่ขั้นสูงเชียวหละครับเพราะท่านคอนโทรลรถได้ดีเยี่ยม........วันนี้ผมขอกลาวถึงการขึ้นที่สูงที่เป็นสามเหลี่ยม จากจุดหยุดนิ่ง ใช้เกียร์ที่เหมาะสมอาจเป็น 1-2 ในรถตระกูลHonda หรือเกียร์2-3 ในรถ Beta ซึ่งมีช่วงเกียร์สั้นกว่า สายตามองที่หมายด้านบน ที่ท่านจะเร่ง..ปล่อยครัทช์เอาล้อหน้าขึ้นไปแตะ และเร่งเลยไป ให้ล้อหลังไต่ตามขึ้นไปด้วย...แต่พอถึงตรงนี้ การควบคุมคันเร่งต้องแม่นยำมาก พอล้อหน้าเลยล้ำขึ้นไปพอเหมาะ ก็ผ่อนคันเร่ง ให้การ์ดแคร้งวางพาดบนยอดสามเหลี่ยม หากเร็วเกินไปอาจใช้เบรคหลังช่วยได้ครับ การเทคตัวถ่ายเทน้ำหนักสำคัญมากเช่นกัน อย่าลืมขี่ให้เป็นธรรมชาติคือไม่เกร็ง หากพื้นฐานการทรงตัวดีก็ไม่ยากครับ ...การเทคตัวลง พอขึ้นอยู่ด้านบนแล้ว จังหวะรถไหลลงก็ยืดแขนถ่ายเทน้ำหนักไปด้านหลัง ออกแรงเกร็งแขนเพื่อควบคุมรถลง จังหวะนี้สายตาควรมองไปที่อุปสรรค์ อันต่อไป เพื่อเราจะบังคับรถไปในทิศทางที่เหมาะสมต่อไปครับ...ลองทดสอบจากอุปสรรค์ที่ต่ำๆก่อนนะครับ เพื่อความปลอดภัย...


.... ...เทคนิคการข้ามสิ่งกีดขวาง ...สิ่งกีดขวางที่สูงใหญ่กว่าช่องว่างใต้ท้องรถ ให้ใช้วิธิยกล้อหน้าให้เลยอุปสรรค์นั้นไป พอล้อหลังชนอุปสรรค์ก็ให้เบาคันเร่ง วางการ์ดแคร้งบนอุปสรรค์นั้น...เทคตัวถ่ายเทน้ำหนักไปด้านหน้า...ช่วงนี้ล้อหลังจะแตะอุปสรรค์ ให้เดินคันเร่งเบาๆให้ล้อหลังไต่ข้ามอุปสรรค์นั้นไป...ส่วนจะข้ามไปโดยเร็วหรือช้าๆนั้นก็แล้วแต่สถานะการณ์ครับ...อธิบายพอเป็นสังเขป...ลองฝึกดู ขาดบ้าง..เกินบ้าง ค่อยๆหาความพอดีเอานะครับ...ฝึกฝนบ่อยๆ จะเกิดความชำนาญโดยไม่รู้ตัวครับ...One/NTC


.... ...หลายท่านถามหา วิธีการฝึกยกล้อ...(ล้อหน้า) ขอเริ่มต้นจากการฝึกหัดก่อนนะครับ หัดเล่นเป็นสเต็ปไปจะปลอดภัย...ทั้งรถ..บังโคลนท้าย..และตัวคนฝึกหัด... ...ขอเริ่มต้นด้วยการยกล้อแบบประคองฯ...หลังจากวอร์มรถ วอร์มคนเรียบร้อยแล้ว ฝึกเล่นกันเลย..การใช้เกียร์ที่เหมาะสมจะง่ายต่อการยกให้ล้อหน้าลอยตัวขึ้นอยางปลอดภัยเพราะไม่เร็วมากนัก ขอให้ทดสอบที่เกียร์ 1 -2 ก่อนหาความเหมาะสมเพราะรถแต่ละรุ่น มีอัตราทดเกียร์ต่างกัน... มีข้อแม้ว่าอย่าเร่งเครื่องยนต์มากนัก ใช้การนั่ง ปล่อยเท้าซ้ายกับพื้นเพื่อประคองรถ..เท้าขวาอยู่บนที่พักเท้าพร้อมใช้เบรคหลังตลอดเวลา..ทำตัวตรง นั่งบนรถ...เร่งเครื่องพอประมาณและปล่อยครัทช์ ดึงประคองแฮนด์ พร้อมกับเลี้ยงเบรคหลังช่วย หากรถจะหงาย ให้รักษาสมดุลของรถและผู้ควบคุม...จากจุดนี้ ให้เพื่อนๆพยายามสังเกตุความสูงของการยกล้อหน้า ว่าความสูงประมาณไหน ที่เป็นจุดโมเมนตั้ม ที่ทำให้รถตั้งทรงตัวอยู่ได้นานๆ...รถแต่ละรุ่นบาลานซ์น้ำหนักมาไม่เหมือนกัน ตำแหน่งของพักเท้าและองศาคอรถ ต่างกันครับ... การเริ่มต้นด้วยเกียร์ต่ำๆก่อนเพื่อเป็นการฝึกการใช้คันเร่ง..เบรคหลัง..การดึงยกตัวของล้อหน้า..การรักษารอบเครื่องยนต์ง..และการประคองรถ การห้อยขาซ้ายไว้เพื่อแตะพื้นประคองตัวเป็นการฝึกหัดให้เคลื่อนไปข้างหน้า...การคอนโทรลซ้าย-ขวา ทำได้โดยการทิ้งน้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง...อาศัยการบิดแฮนด์โดยใช้การบิดโยกไหล่ และเอว... หากคิดว่าฝึกทำตามขั้นตอนนี้ได้ดีแล้ว ก็ให้เปลี่ยนไปใช้เกียร์ 3 เพื่อฝึกการยกล้อและเลี้ยงตัวไปข้างหน้าได้ไกลขึ้นครับ... (มีต่อ)...One/NTC..


....ฝึกยกล้อ (ต่อครับ)..ขอย้อนไปที่การควบคุมขณะล้อหน้ายกลอยอยู่นะครับ..ขอให้ตั้งสติ และใจเย็นๆ มีสมาธิอยู่ที่คันเร่ง...เบรคหลัง..ครัทช์..พอเราเร่งเครื่อง..ปล่อบครัทช์ ประคองดึงแฮนด์ขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องตกใจครับเท้าขวาตั้งมั่นอยู่ที่เบรคหลัง หากจะหงายให้เบรคหลัง+บีบครัทช์นิดหน่อยแต่เบรคแรงเกินไป ล้อหน้าก็จะตกลง...พยายามยกล้อขึ้นหาจุดบาลานซ์ให้ได้ว่า มุมสูงขนาดไหนที่รถตั้งทรงตัวได้ดี ไม่น้อยจนต้องเร่งส่งแรงๆต่อเพื่อยกล้อหน้าไว้...หรือมากเกินไปจนหงายหลัง...ฝึกเลี้ยงคันเร่ง...เบรคหลัง..และใช้ครัทช์ + การควบคุมทิศทางไปข้างหน้าด้วยการถ่ายเทน้ำหนักไปด้านใด ด้านหนึ่ง และใจเย็นๆการฝึกบ่อยๆจะทำให้เราควบคุมรถได้แม่นยำขึ้นเองครับ... ...ไปได้ไกลแค่ไหนยังไม่สำคัญ หากเราทำได้ดีที่ระยะ 4 เมตร ในวันนี้ ก็พอใจแล้ว เพราะครั้งต่อๆไป เราต้องทำได้ 5 เมตร แน่นอน..ระยะเวลา และการฝึกฝนจะทำให้เราดีขึ้น ได้สนุกสนาน..ได้ออกกำลังกาย..ได้ทำในสิ่งที่เราชอบ..และมีความสุขกับมัน เวลา 3 วัน เราไม่สามารถเก่งได้ แต่ 3 สัปดาห์...3 เดือน เราน่าจะทำได้ดีนะครับ...เพื่อนๆท่านอื่นอาจมีเทคนิคที่ดีกว่านี้ ก็แนะนำกันต่อไป กับเรื่องราวเล็กๆน้อยๆที่น่าจะเป็นประโยชน์กับการฝึกฝน หากมีเวลาผมก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ..One/NTC..


..... ...ยกล้อหลัง..เทคนิคง่ายๆ แต่ต้องระวังหน่อยครับ..เคยเห็นหลายท่านหัวทิ่มมาแล้ว..ก่อนอื่นตรวจเช็คเบรคหน้าให้
ใช้การได้ดีก่อน เพราะมันเป็นพระเอกในงานนี้เชียวครับ การขับขี่มาด้วยความเร็วพอประมาณ บีบครัทช์ให้รถไหลไป..แล้วขย่มรถลงนิดหน่อย พร้อมบีบล๊อคเบรคหน้าอย่างแรง ออกแรงดันแฮนด์รถไปข้างหน้า ล้อหลังจะถูกยกขึ้นง่ายๆครับ..ใช้หลักการสปริงตัวของโช๊คหลังจะทำให้ง่ายต่อการยกล้อหลังด้วยครับ...พอล้อหลังยกลอยก็หาจังหวะปล่อยเบรคหน้าอีกที หากปล่อยเร็วเกินไปก็ยกไม่ค่อยสูง หากปล่อยช้าไปก็อาจหัวทิ่มได้..ค่อยๆหาความพอดีครับ ...แต่พื้นแทรคที่เราจะเล่นต้องแข็งไม่ร่วนซุยนะครับ..เริ่มจากเบาๆแบบค่อยเป็นค่อยไป หาพื้นเรียบที่ไม่มีทราย หากเบรคหน้ามีคุณภาพดี จะเล่นยกหลังได้ง่ายๆครับ.. ก.ลองฝึกกันดูในขั้นต้นก่อน จะมาอธิบายเสริมให้อีกทีครับ...


...หน้าตัดสูง 1 เมตร..ขอบอกว่าไม่ง่ายนะครับ หากเป็นหน้าตัด 90 องศา และจ่อขึ้น หรือในระยะประชิด...การฝึกซ้อม ก็ขอให้เล่นที่ต่ำๆมาก่อน จนพอมีทักษะกันมาบ้างแล้ว ขอเริ่มแบบพอมีระยะส่งรถก่อนนะครับ..ให้หยุดนิ่งทรงตัวในระยะ 3 เมตรไว้ก่อน ไล่เช็คเกียร์ ไว้ที่ เกียร์ 2 หรือ 3 รถแต่ละรุ่นมีอัตราทดเกียร์ต่างกันไป (ทดลองหาความเหมาะสมเองครับ)..จากระยะดังกล่าว เคลื่อนรถเข้าหาอุปสรรค์สูง 1 เมตร แบบช้าๆ..พอล้อหน้าได้ระยะ 1 เมตรก่อนถึงหน้าตัด ให้บีบครัทช์..เร่งเครื่อง..ในจังหวะเร่งเครื่อง ให้ออกแรงย่อเข่าลง แล้วสปริงตัวเรากระโดดขึ้นพร้อมทั้งรถ... พร้อมจังหวะปล่อยครัทช์อย่างทันที..ให้ล้อหน้ายกขึ้นเช็ดเหลี่ยมหน้าตัด...ควบคุมคันเร่งให้พอเหมาะ...เป็นจังหวะที่ล้อหลังไต่ขึ้นมุม 90 องศา ให่เร่งค้างไว้ต่อไป...พร้อมสปริงย่อเขาเพื่อให้ล้อหลังไต่ขึ้นมาโดยง่าย...ขณะเดียวกันก็ออกแรงดันแฮนด์ไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นการช่วยดึงล้อหลังขึ้นตามมาอีกแรง...พอล้อหลังไต่ขึ้นมาได้แล้วก็บีบครัทช์หยุดทรงตัว..เพื่อเล่นอุปสรรค์ต่อไปได้โดยง่ายครับ...ในการฝึกซ้อมเราอาจขึ้นได้หลายสไตล์ อาจขึ้นอย่างรุนแรง..หรือขึ้นได้อย่างนุ่มนวล..ค่อยๆฝึกหาความพอดีกันต่อไปครับ...หน้าตัดมุม 90 องศาในธรรมชาติ อาจมีเหลี่ยมมุมที่ต่างกัน เพื่อนๆลองอ่านหาไลน์ที่เหมาะสมเพื่อจะเล่นในอุปสรรค์ต่อๆไปได้สะดวกด้วยครับ..
...การใช้เกียร์ และรอบเครื่องที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะได้แรงส่งที่ดี และการถ่ายเทน้ำหนัก สปริงตัว..ดึงและดันรถ ในจังหวะที่เหมาะสม ก็สำคัญไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกขั้นตอนนี้ เกิดขึ้นในชั่วพริบตา เพราะแน้นให้เพื่อนๆทดลองฝึกในมุมที่ต่ำๆก่อน เพื่อฝีกทักษะการคอนโทรล-เทคตัว ถ่ายเทน้ำหนัก...หากคล่องตัวดีแล้ว ค่อยๆเพิ่มความสูงเป็น 1 เมตร..2 เมตร..ต่อไปครับ...One/NTC

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น